“ไม้ใบ” ขยายพันธุ์ได้ ง่ายนิดเดียว

DATE : ธันวาคม 1, 2021 By :

          อยากมีต้นไม้เยอะๆ แต่ไม่ไหวซื้อเพิ่ม ทำยังไงดี? วันนี้เรามีวิธีดีๆ มาบอกค่า 

          ใครๆ ก็อยากมีสวนสวยๆ ข้างบ้าน ตกแต่งด้วยไม้นานาพรรณ ไว้ให้สูดโอโซนยามเช้าได้อย่างเต็มปอด หรือจะมีไว้ทำกำไรต่อยอดในอนาคตก็น่าสนใจไม่น้อย แต่กว่าจะเป็นสวนได้ก็คงต้องมีต้นไม้เยอะพอสมควร จะซื้อเพิ่มก็กลัวคนที่บ้านจะบ่นเอา ฉะนั้น แอดขอเสนอ! 

          การขยายพันธุ์ไม้ใบด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งมีหลายวิธีแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของต้นไม้ สภาพแวดล้อมที่จะให้ต้นไม้อาศัยอยู่ และที่สำคัญคือ ความถนัดของผู้เลี้ยง ต้นไม้บางต้นสามารถใช้การขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ถ้าลองอ่านดูแล้วคิดว่าวิธีไหนเวิร์กที่สุดก็ลุยได้เล้ยยย 

การขยายพันธุ์ไม้ใบ

1. การตัดชำ

          การตัดชำ คือ การตัดชิ้นส่วนจากลำต้นเดิม (ต้นแม่) แล้วนำไปชำลงในกระถางใหม่ ต้นใหม่ที่โตขึ้นจะมีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ การขยายพันธุ์แบบนี้เรียกว่า การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เพราะสามารถขยายพันธุ์และเติบโตได้เองโดยไม่ต้องผสมเกสร ซึ่งการขยายพันธุ์โดยการตัดชำนั้น สามารถใช้ได้ทั้งลำต้น กิ่งและใบ

วิธีการตัดชำ

การตัดชำ (cutting)
การตัดชำ (cutting)

          การตัดชำด้วยกิ่งหรือลำต้น ควรเลือกยอดที่ดูแข็งแรง ไม่อ่อนจัดหรือแก่จัดจนเกินไป มีใบติดยอดสัก 2-5 ใบ ถ้าเป็นต้นที่มีรากอากาศ เช่น ฟิโลเดนดรอน พลู ให้เลือกกิ่งที่มีรากงอกออกมาแล้ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์

          การตัดชำด้วยใบ ควรเลือกใบแก่ สีสด ไม่มีรอยไหม้ หรือใบเหลือง ถ้าใบมีรูปเรียวยาว เช่น ลิ้งมังกร ให้ตัดเป็นชิ้นประมาณ 2-3 นิ้ว โดยตัดเฉียง 45 องศา แล้วจึงนำไปชำ แต่ถ้าเป็นใบที่มีความยาวไม่มากนัก เช่น กวักมรกต สามารถตัดที่ข้อใบและนำไปชำได้เลย 

 

การตัดชำมี 2 แบบ 

  1. การตัดชำในน้ำ คือ การตัดใบ ลำต้น หรือกิ่งจากต้นแม่แล้วนำมาชำลงในน้ำสะอาด วิธีนี้จะทำเพื่อล่อรากก่อนนำไปปลูกลงดิน หรือจะปลูกในน้ำเลยก็ได้ ไม้ใบที่ปลูกในน้ำได้ เช่น มอนสเตอรา ซิงโกเนียม โดยส่วนมากมักนำไปใส่แจกันประดับโต๊ะรับแขก หรือแขวนผนัง ส่วนที่นำมาชำควรตัดเล็มให้พอดีกับภาชนะ ถ้าปากแคบควรตัดใบด้านล่างออกด้วย น้ำที่ใส่ในภาชนะควรใส่พอปริ่มๆ ไม่ควรใส่ท่วม เพราะจะทำให้ต้นเน่าได้ ถ้าอยากให้รากงอกไวขึ้น สามารถจุ่มยาเร่งราก 15-20 วินาที ก่อนค่อยนำไปชำลงน้ำก็ได้
  2. การตัดชำลงดิน คือ การตัดใบ ลำต้น หรือกิ่งจากต้นแม่แล้วนำมาชำลงในวัสดุปลูก เช่น ดินผสมสำเร็จ พีทมอส หรือกาบมะพร้าวผสมทราย ถ้าส่วนที่ตัดมีน้ำยางไหลออกมา ควรล้างทำความสะอาดและผึ่งให้แห้งก่อน หรือจะทาปูนแดงบริเวณรอยแผลด้วยก็ได้ แล้วจึงนำไปชำลงดิน 

ช่วงแรกของการตัดชำ ไม่ควรให้ไม้ใบโดนแดดโดยตรง ทางที่ดีควรให้อยู่ในแสงรำไรหรือรับแดดช่วงเช้า เพราะยังไม่แข็งแรงดี จากนั้นค่อยให้โดนแดดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของต้นไม้ด้วย

 

2. การผ่าหัว

          การแยกหน่อ คือ การนำส่วนหน่อของไม้ใบที่แยกจากต้นแม่มาปลูกในกระถางใหม่ ซึ่งการแยกหน่อจะทำได้เฉพาะต้นไม้ที่กิ่งหรือใบไม่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้ โดยจะใช้หน่อที่เกิดจากหัวหรือเหง้าในการขยายพันธุ์แทน ซึ่งการขยายพันธุ์แบบนี้เรียกว่า การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ต้นลูกจะมีลักษณะไม่ต่างจากต้นแม่ 

วิธีการแยกหน่อ

การแยกหน่อ (Plant shoot separation)
การแยกหน่อ (Plant shoot separation)

          การแยกหน่อสามารถทำได้โดยการตัดหน่อจากต้นแม่ นำไปปลูกลงวัสดุปลูกที่เตรียมไว้ ถ้าหน่อเพิ่งแตกใหม่ ควรเลือกหน่อที่ดูอวบ แข็งแรงที่สุด เพื่อจะได้แตกใบได้ไวขึ้นและไม่เสี่ยงต่อการเน่าตาย การตัดหน่อควรใช้มีดคมๆ ในการตัดและทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต้นแม่ และไม่ทำให้หน่อหรือรากบอบช้ำและขาด ส่วนที่โดนตัดสามารถทาปูนแดงเพื่อช่วยรักษาแผลได้ ไม้ใบที่นิยมใช้วิธีการขยายพันธุ์เช่นนี้ ได้แก่ คาลาเทีย (คล้า) อโลคาเซีย เป็นต้น

 

3. การผ่าหัว

          การผ่าหัว คือ การนำหัวของไม้ชนิดนั้นๆ มาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปวางบนวัสดุปลูก หนึ่งหัวสามารถขยายพันธุ์ต่อได้หลายสิบต้น ขึ้นอยู่กับขนาดของหัว การขยายพันธุ์แบบนี้ เรียกว่า การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ 

วิธีการผ่าหัว

การผ่าหัว (Tuber cutting)
การผ่าหัว (Tuber cutting)

          การขยายพันธุ์แบบผ่าหัวมักนิยมใช้ในการขยายพันธุ์บอนสี ซึ่งมีหัวอยู่ใต้ดิน ในการผ่าหัว ถ้าอยากได้ปริมาณมากๆ ให้ผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ และไม่ควรผ่าออกจนหมด ให้เหลือส่วนหัวและรากติดไปกับต้นแม่ด้วย อย่าลืมทาปูนแดงบริเวณแผลเพื่อป้องกันเชื้อรา และทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นนำไปปลูกต่อได้

          ส่วนหัวที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ควรล้างด้วยน้ำปูนแดงจนกว่ายางจะหลุดออกหมด จากนั้นผึ่งให้แห้งแล้วนำมาเรียงบนวัสดุปลูก โดยให้ส่วนเปลือกหันลงดินและส่วนที่โดนตัดวางหงายขึ้น รดน้ำพอสมควรแล้วเลี้ยงในระบบปิด 1-2 เดือน จะเริ่มมีต้นอ่อนขึ้น เมื่อต้นแข็งแรงดีให้ย้ายลงกระถางได้

 

4. การเพาะเนื้อเยื่อ 

          การเพาะเนื้อเยื่อ คือ การนำเอาส่วนเนื้อเยื่อของต้นแม่ไปเพาะต่อบนอาหารเลี้ยงเชื้อ วิธีนี้เหมาะสำหรับพืชที่ขยายพันธุ์ต่อได้ยาก เช่น ไม้ด่าง เพราะจริงๆ แล้วไม่ด่างเกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ หากต้องการต้นที่ด่างเหมือนแม่ จึงต้องใช้การขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 

          วิธีนี้ทำให้ขยายพันธุ์ไม้ได้ในปริมาณมากและรวดเร็ว แต่เนื่องจากมีต้นทุนสูง เพราะต้องควบคุมปริมาณแสง อุณหภูมิ ความชื้นที่พอเหมาะ และต้องเป็นห้องปลอดเชื้อเท่านั้น จึงต้องอาศัยความชำนาญ หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ไม้ใบที่นิยมใช้วิธีการขยายพันธุ์ลักษณะนี้ ได้แก่ ฟิโลเดนดรอนก้ามกุ้งด่าง ฟิโลเดนดรอนหูช้าง ฟิโลเดนดรอน ไวท์วิทซาร์ด กล้วยด่างฟลอริดา และกล้วยแดงอินโดฯ เป็นต้น

วิธีการเพาะเนื้อเยื่อ

การเพาะเนื้อเยื่อ (Tissue culture)
การเพาะเนื้อเยื่อ (Tissue culture)

           การเพาะเนื้อเยื่อจะเลือกตัดส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นแม่ เช่น ยอดอ่อน ข้อ หรือตา มาทำความสะอาดให้ปราศจากเชื้อโรค ก่อนลงเพาะเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ในขวดแก้ว ได้แก่ วิตามิน เกลืออนินทรีย์ น้ำตาล และแร่ธาตุต่างๆ โดยควบคุมปริมาณแสง อุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสมกับสายพันธุ์นั้นๆ เมื่อเริ่มมีรากงอก ก็สามารถย้ายไปอนุบาลลงวัสดุปลูกได้

          การเตรียมวัสดุอนุบาล จะใช้ดินหรือพีทมอสที่รดน้ำจนชุ่มก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้อนุบาล แต่เมื่อเปิดฝาขวดแก้วแล้ว ให้รีบอนุบาลทันที ควรล้างวุ้นออกจนหมดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพราะอาจมีเชื้อโรคเข้าเจือปน ซึ่งก่อให้เกิดเชื้อราได้ เมื่อนำพืชลงวัสดุปลูก ให้เลี้ยงแบบระบบปิดก่อน 1-2 เดือน และตั้งในพื้นที่ที่แสงสว่างส่องถึง พอพืชแข็งแรงดีจึงเปลี่ยนเป็นเลี้ยงแบบระบบเปิด และควรใช้สแลนในการพรางแสงด้วย

          หากใครอยากมีต้นไม้สวยๆ รอบบ้าน อยากให้บ้านเป็นสวนไม้ใบ หรือเป็นเรือนเพาะชำเพื่อสร้างกำไรในอนาคต ก็ลองเลือกใช้วิธีการขยายพันธุ์ที่แอดนำมาบอกต่อในวันนี้ดูนะคะ บางวิธีสามารถทำเองได้ง่ายๆ ที่บ้านเลย ถ้าใครลองแล้วได้ผลเป็นยังไง อย่าลืมมาอวดกันด้วยน้า ตอนนี้แอดต้องลองไปขยายพันธุ์ไม้ด้วยตัวเองบ้างแล้ว ถ้าไปรอดแอดก็จะมาอวดให้ดูเหมือนกันค่าาา

Share this:
M.E. Greenery Export
0 thoughts on ““ไม้ใบ” ขยายพันธุ์ได้ ง่ายนิดเดียว”

Leave a Comment

Your email address will not be published.