ศัตรูตัวร้ายของไม้ใบ

DATE : พฤศจิกายน 9, 2021 By :

     แอดเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ปลูกเลี้ยงต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ใบ หรือแม้แต่พืชผักส่วนครัว ต้องเคยประสบปัญหาศัตรูพืชบุกต้นไม้กันแน่ ๆ บางคนอาจจะใช้วิธีที่สะดวกโดยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหล่านั้น แต่รู้ไหมคะว่า สมุนไพรหรือของที่หาได้ง่าย ๆ ตามบ้านของเราก็สามารถกำจัดศัตรูตัวร้ายได้เหมือนกัน ไม่ต้องลงทุนเยอะ ช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า แถมยังช่วยไม่ให้ต้นไม้ถูกทำร้ายจากสารเคมีมากเกินไปด้วย ถ้าอยากรู้ว่ามีตัวช่วยอะไรดี ๆ บ้าง ตามแอดมาเลยค่าา

เพลี้ยอ่อน 

artwork pests 07
เพลี้ยอ่อน
  • ลักษณะ:  ลำตัวอ่อนนุ่ม มีสีเขียวอ่อน เมื่อโตขึ้นจะเริ่มเป็นสีดำ มักอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยอาศัยมดเป็นพาหะในการเดินทางมายังต้นไม้ คอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและใต้ใบ 
  • ความเสียหาย: ใบเหลือง หงิกงอ ทำให้เกิดราดำ 
  • วิธีกำจัด:

– นำสารส้มแช่น้ำ ราดบริเวณทางเดินหรือรังมด เพื่อไม่ให้มดนำพาเพลี้ยมายังต้นไม้             

– ใช้มือหรือสำลีรูดออก แล้วฉีดน้ำล้างบริเวณต้นไม้ให้ทั่ว

– ใช้สารสะกัดจากสะเดาฉีดพ่นบริเวณที่เพลี้ยเกาะอยู่

– สับบอระเพ็ดแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นกรองออก นำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นบริเวณที่เพลี้ยเกาะอยู่

– ใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรียผสมน้ำฉีดพ่นบริเวณที่เพลี้ยเกาะอยู่

 

เพลี้ยแป้ง

artwork pests 08
เพลี้ยแป้ง
  • ลักษณะ:  มีขนาดเล็ก ลำตัวอ่อนนุ่ม มีผงแป้งสีขาวปกคลุมลำตัว ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบ ยอด และลำต้น เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น
  • ความเสียหาย:  ทำให้เกิดราดำ พืชสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ใบหงิกงอ แคระแกรน
  • วิธีกำจัด:

– ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์หรือน้ำยาล้างเล็บ เช็ดบริเวณที่มีเพลี้ยแป้งเกาะอยู่

– นำยาเส้นผสมน้ำทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองออก นำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นบริเวณที่เพลี้ยแป้งเกาะอยู่ หรือผสมพริกป่น หรือพริกดสดตำละเอียด เพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วยก็ได้

– ใช้เหล้าขาวผสมน้ำส้มสายชู ฉีดพ่นบริเวณที่เพลี้ยแป้งเกาะอยู่ ใช้สูตรนี้กับเพลี้ยชนิดอื่น ๆ และหนอน ได้เช่นกัน

 

ไรแดง

artwork pests 09
ไรแดง
  • ลักษณะ: เป็นแมงที่มีลำตัวสีแดงเข้ม ขาสีเหลืองอ่อน คอยสร้างใยทำรังและป้องกันตัว คล้ายแมงมุม พบมากในช่วงหน้าแล้ง
  • ความเสียหาย: ใบมีจุดสีขาว ใบซีด
  • วิธีกำจัด:

– ฉีดน้ำไล่บริเวณที่ไรแดงเกาะอยู่

– ใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำฉีดพ่นบริเวณที่ไรแดงเกาะ พร้อมใช้สำลีถูหรือใช้แปรงแต่งหน้าปัดให้ไรแดงหลุดออก

– ตำขมิ้นชันให้ละเอียดผสมน้ำเปล่า หมักทิ้งไว้ 1-2 วัน แล้วกรองขมิ้นออก นำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นบริเวณที่ไรแดงเกาะอยู่

 

หอยทาก

artwork pests 10
หอยทาก
  • ลักษณะ:  สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวซ่อนอยู่ใต้เปลือกหอย คอยแทะเล็มใบไม้เป็นอาหาร ชอบอยู่ในพื้นที่ชื้น พบมากในฤดูฝน 
  • ความเสียหาย: ใบไม้ขาด แหว่ง 
  • วิธีกำจัด:

– จับตัวหอยทากออก พร้อมใบที่โดนกัด นำไปทิ้งไกล ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีไข่ของหอยทากหลงเหลืออยู่ในบริเวณต้นไม้

– ใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นบริเวณใบหรือดินเป็นประจำ

– นำเปลือกไข่ไปบดให้ละเอียด โรยรอบ ๆ ดินหรือแปลงต้นไม้

– ใช้เกลือโรยรอบ ๆ ต้นไม้ หรือนำไปละลายน้ำฉีดพ่นที่ตัวหอยทาก

– ใช้ยาเส้นโรยที่ตัวหอยทาก หรือนำไปผสมน้ำแล้วกรองออก นำน้ำไปฉีดที่ตัวหอยทาก ให้ดีควรฉีดก่อนพลบค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่หอยทากเริ่มออกหาอาหาร 

 

หนอนผีเสื้อ

artwork pests 11
หนอนผีเสื้อ
  • ลักษณะ: มีลำตัวอ้วนกลม สีเขียว ยาวประมาณ 6-8 ซม. เกิดจากผีเสื้อบินมาวางไข่บริเณใบไม้ พอฟักไข่ก็เริ่มแทะเล็มใบไม้เป็นอาหารจนกระทั่งฟักตัวเป็นดักแด้ และกลายเป็นผีเสื้อในที่สุด
  • ความเสียหาย:  ใบขาด แหว่ง เป็นรู ใบ้ม้วน ทำให้ใบไม้ผิดรูป 
  • วิธีกำจัด:

– จับหนอนออก นำไปทิ้งไกล ๆ 

– ใช้เหล้าขาวผสมน้ำส้มสายชู ฉีดพ่นบริเวณที่หนอนเพลี้ยแป้งเกาะอยู่

– สับใบสะเดา ตะไคร้หอมและข่าให้ละเอียด นำไปตำรวมกัน ผสมน้ำทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองออก นำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่นบริเวณที่หนอนเกาะอยู่ 

– ใช้พริกป่นหรือพริกสดตำละเอียดผสมน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองออก นำน้ำไปฉีดพ่นบริเวณที่หนอนเกาะอยู่

 

ราสนิม

artwork pests 12
ราสนิม
  • ลักษณะ: เป็นเชื้อราที่พบได้บริเวณใบ กิ่งและลำต้น  ระยะแรกมีสีเหลืองอ่อน ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาล เมื่อสัมผัสดูแล้วมีผงสปอร์ติดมือคล้ายสนิมเหล็ก แพร่กระจายได้ดีในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง
  • ความเสียหาย: ใบมีรอยไหม้ และค่อย ๆ หลุดร่วง
  • วิธีกำจัด:

– ตัดแต่งต้นไม้ให้โปร่ง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก 

– เผาใบที่เกิดราสนิมทิ้งทั้งหมด หรือนำใส่ถุงปิดให้มิดชิดและนำไปทิ้งไกล ๆ 

– นำใบมะละกอหั่นละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย คั้นน้ำออก ผสมสบู่เหลวและน้ำเปล่า นำไปฉีดพ่นบริเวณที่เกิดราสนิมให้ทั่ว ทำซ้ำอีกครั้งใน 1 สัปดาห์ 

– นำปูนขาวผสมน้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นฉีดพ่นที่ต้นไม้ทุก ๆ 2-3 วัน

 

      ทริคเล็ก ๆ เมื่อเรารับต้นไม้น้องใหม่เข้าบ้าน แอดแนะนำว่าให้แยกต้นไม้ไว้ที่อื่นก่อน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ อย่าเพิ่งนำไปรวมกับต้นเก่าของเรานะคะ เพื่อจะได้ดูว่าต้นไม้ที่เราได้มา มีศัตรูพืชตัวร้ายหรือโรคร้ายติดมาด้วยหรือเปล่า และจะได้แก้ไขอย่างทันท่วงที ไม่ลามไปยังต้นอื่น ๆ วิธีแก้ไขที่บอกไปข้างต้น อาจจะต้องปรับให้เหมาะสมกับต้นไม้ชนิดนั้น ๆ ด้วย ถ้าลองไปทำตามกันแล้ว ได้ผลเป็นยังไงก็บอกแอดด้วยน้าาาา

Share this:
M.E. Greenery Export
0 thoughts on “ศัตรูตัวร้ายของไม้ใบ”

Leave a Comment

Your email address will not be published.